พระพุทธมหาจักรพรรดิอมรรัตนศรีสุวรรณภูมิ
พระพุทธมหาจักรพรรดิอมรรัตนศรีสุวรรณภูมิ ผู้ทรงระงับเหตุเภทภัยและนำพาสมบัติจักรพรรดิมาสู่ชีวิต
จากตำนานเกี่ยวกับท้าวมหาชมพูบดีสูตร ในสุตตันตปิฎก กล่าวไว้ว่าท้าวมหาชมพูบดีเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งนครปัญจาลราชและมีของวิเศษคู่กายคือฉลองพระบาทประดับอัญมณีเมื่อสวมใส่แล้วจะเหาะได้ มีพระขรรค์วิเศษและศรวิเศษ ด้วยบุญญาธิการของพระองค์จึงมีกษัตริย์ถึงร้อยเอ็ดหัวเมืองมายอมสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้น วันหนึ่งท้าวมหาชมพูบดีได้เสด็จเหาะผ่านไปเห็นปราสาทพระเจ้าพิมพิสารที่มีความงดงาม เกิดไม่พอพระทัยจึงคิดจะทําลาย แต่ก็ไม่สามารถทำลายปราสาทนั้นได้ จึงส่งของวิเศษทั้งสองมาเพื่อหมายจะทำร้ายพระเจ้าพิมพิสาร จนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปขอพึ่งพระบารมีของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าท้าวมหาชมพูบดีสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้จึงให้พระอินทร์ไปเชิญท้าวมหาชมพูบดีมาเฝ้า ซึ่งต้องใช้กําลังบังคับจนท้าวมหาชมพูบดียอมเดินทางมา พระพุทธเจ้าได้เนรมิตเมืองให้มีความวิจิตรงดงามตระการตา เมื่อท้าวมหาชมพูบดีเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าก็ให้มาฆสามเณรไปเชิญท้าวมหาชมพูบดีเสด็จพระราชดําเนินเข้าเมืองด้วยเท้า ซึ่งมาฆสามเณรก็ใช้อิทธิฤทธิ์ทําให้ท้าวมหาชมพูบดีต้องลงจากหลังช้างและเดินเท้าเข้าเมืองมา จึงเห็นว่าเมืองของพระพุทธเจ้านั้นยิ่งใหญ่งดงามอลังการกว่าเมืองของตน และเมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ซึ่งขณะนั้นทรงเนรมิตพระองค์ด้วยภูษาอาภรณ์ทรงเครื่องใหญ่ในแบบพระมหาจักรพรรดิราชที่ยิ่งใหญ่อลังการเหนือกว่ากษัตริย์ใดๆที่ท้าวมหาชมพูบดีได้เคยพบเห็นมา เมื่อท้าวมหาชมพูบดีเห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใสและลดทิฐิมานะของตนลงได้ จากนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมโปรดท้าวมหาชมพูบดีพร้อมกับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดหัวเมืองที่ติดตามมาทุกคนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
อีกตำนานพุทธประวัติอันเกี่ยวกับปางห้ามสมุทรนั้นมีที่มาจากในครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ของพระเจ้าพิมพิสาร ทรงขอประทับแรมอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิล (ฤษี ผู้บูชาไฟ) ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแคว้นมคธ พระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานัปการเพื่อทรมาน ฤษีอุรุเวลกัสสปะให้คลายความพยศลง ในครั้งที่น้ำท่วม พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกรมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง พวกเหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงยอมรับในอานุภาพของพระพุทธองค์ จึงได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
จากตำนานความเชื่อและความศรัทธาสู่การรังสรรค์ผลงานประติมากรรมอันล้ำค่าด้วยพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่อย่างมหาจักรพรรดิอยู่ในอริยาบทหงายพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นเสมอกับพระอุระ ตามตำราพระพุทธรูปไทยสมัยรัตนโกสินทร์ใช้เรียกปางห้ามสมุทร ประดับเครื่องทรงอันประกอบด้วย มหามงกุฎทรงสูง กรรเจียกจร กระหนกเหน็บ กรองศอ พาหุรัด ทับทรวง ทองพระกร พระธำมรงค์สวมทุกพระองคุลี กงจักร สังฆาฏิ สังวาล ผ้าคาดเอว สายรัดพระองค์ ปั้นเหน่ง สุวรรณกระถอบ ชายไหว ชายแครง ทองพระบาท ฉลองพระบาทเชิงงอน พระภูษาที่มีลวดลายงดงามอลังการวิจิตรบรรจง ศิลปะรัตนโกสินทร์แบบร่วมสมัยที่มีความอลังการเป็นที่สุด
ด้วยมูลเหตุดังกล่าวนี้ Artmulet นำโดย อ.ธนทัศน์ ทองเนียม ประธานดำเนินงาน และ ดร.ทรงพล เขมะบุลกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง ที่ปรึกษาโครงการ และคณะกรรม การวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง จึงมีมติเห็นตรงกันว่า สมควรให้มีการจัดสร้าง “พระพุทธมหาจักรพรรดิอมรรัตนศรีสุวรรณภูมิ” ขึ้นมาเพื่อระงับเหตุเภพภัยทั้งหลายและนำพาความเป็นสิริมงคลสู่สมบัติจักรพรรดิแก่ผู้ที่จะนำพระพุทธปฏิมากรองค์นี้ไปสักการะบูชาโดยถวายพระนามตามชัยภูมิถิ่นกำเนิดว่า “พระพุทธมหาจักรพรรดิอมรรัตนศรีสุวรรณภูมิ” นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากจิตรกรเอกชื่อดัง อ.เกรียงกมล นาคบางแก้ว และอ.สุชาติ แซ่จิว บรมครูด้านประติมากรชื่อดัง เป็นผู้รังสรรค์ปั้นแต่งพระพุทธปฏิมากรองค์ต้นแบบนี้ ด้วยความประณีต วิจิตรบรรจง งดงาม ตระการตาและอลังการเป็นที่สุด ทั้งนี้เพื่อมอบไว้เป็นสมบัติอันล้ำค่าแด่ผู้มีจิตศรัทธาในการร่วมจัดสร้างที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมและศาลาอเนกประสงค์ ณ วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง
ดังนั้น “พระพุทธมหาจักรพรรดิอมรรัตนศรีสุวรรณภูมิ” จึงถือได้ว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรที่ทรงคุณค่าเป็นที่สุดในทุกๆ ด้าน สมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีไว้เป็นพระประจำตัว ประจำบ้าน ประจำตระกูลเพื่อระงับเหตุเภพภัยและให้ผู้ที่สักการะบูชาเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสู่สมบัติจักรพรรดิสมดังปารถนา เป็นมรดกสืบต่อไปยังลูกหลานในวันข้างหน้า และเพื่อมอบไว้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยสืบไป