พญาสุบรรณสีทันดร ขนาดสูง 3 นิ้ว
พญาสุบรรณสีทันดร สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ อำนาจ เงินตรา เสริมวาสนาบารมี กลับร้าย กลายเป็นดี
ตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ อาศัยอยู่ ณ วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งวัชระหรือสายฟ้าของพระอินทร์ จะทำได้ก็เพียงแต่ทำให้ขนปีกของครุฑหลุดร่วงลงเพียงเส้นเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" อันหมายถึง "ผู้มีปีกอันวิเศษงดงามทรงพลัง" ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาแหลมคม อ่อนน้อมถ่อมตน ในมหากาพย์อย่างมหาภารตะนั้นเล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับนาคแต่ต่อมาภายหลังเกิดทะเลาะกันเลยกลายเป็นศัตรูกัน โดยครุฑและนาคนั้น เป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดร มารดาของครุฑนั้นคือนางวินตา ส่วนมารดาของนาคคือนางกัทรุ ในกาลต่อมา นางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพ ที่เกิดขึ้นในคราวกวนเกษียรสมุทรซึ่งเป็นสมบัติของ พระอินทร์ โดยพนันกันว่าหากใครแพ้ต้องตกเป็นทาสของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเวลาห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาวส่วนนางกัทรุทายว่าม้าสีดำ ความจริงม้านั้นเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้ให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ นางวินตาไม่ทราบในกลอุบายเลยต้องยอมแพ้และตกเป็นทาสของนางกัทรุเป็นเวลาถึงห้าร้อยปี ต่อมาภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาของตนต้องตกเป็นทาสจึงคิดที่จะหาทางช่วยเหลือมารดา นางกัทรุจึงได้ให้ครุฑไปเอาน้ำอมฤตมาให้แก่พวกนาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท ครุฑจึงได้บินขึ้นไปยังสวรรค์เพื่อเอาน้ำอมฤตจึงเกิดการต่อสู้กันระหว่างพระอินทร์และบรรดาทวยเทพเทวดาที่ติดตามมาฝ่ายเทวดานั้นไม่สามารถเอาชนะได้ พระอินทร์จึงได้ใช้วัชระซึ่งเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้โจมตีครุฑแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรครุฑได้แม้แต่น้อย ฝ่ายครุฑได้สลัดขนของตนให้หล่นลงเพียงเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ เมื่อพระนารายณ์ทรงทราบเหตุก็ได้ออกมาขวางครุฑไว้และได้สู้รบกันต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำข้อตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระนารายณ์ได้มอบน้ำอมฤตให้ด้วยเหตุที่ครุฑมีความกตัญญูต่อมารดาและประทานพรแก่ครุฑให้เป็นอมตะและยังให้ครุฑอยู่สูงกว่าเมื่อพระองค์ทรงประทับบัลลังก์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะขอเป็นพาหนะแห่งพระนารายณ์ตลอดไป
สีทันดร หรือมหานทีสีทันดร ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง หมายถึง ห้วงน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาล 7 สาย 7 ชนิด มีน้ำนม น้ำนมส้ม น้ำเนย น้ำอ้อย น้ำเหล้า น้ำจืด และน้ำเค็ม ไหลผ่านคั่นระหว่างเทือกเขาทั้ง 7 ที่เรียกว่า สัตบริภัณฑ์ ซึ่งรายล้อมรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ความกว้างใหญ่ของมหานทีสีทันดรนี้ มีแต่พญาสุบรรณที่มีพละกำลังมหาศาลเท่านั้นจึงสามารถบินข้ามมหานทีสีทันดรไปได้ ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลอีกทั้งยังมีเทือกเขาคั่นของมหานทีสีทันดรนี้เอง จึงเปรียบดั่งเช่นอุปสรรคและปัญหาในชีวิตของคนเรา ที่บางครั้งต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมากเพื่อนำพาตัวเองข้ามผ่านอุปสรรคทั้งหลายที่เข้ามาสู่ชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า ดังเช่นมหานทีทั้ง 7 สาย จึงผ่านพ้นไปได้ ดังนั้นกำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้ตัวเองก้าวข้ามผ่านอุปสรรคทั้งหลายได้ในที่สุด เพื่อให้ได้รับความสำเร็จสมดังปรารถนาในสิ่งที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า
พญาสุบรรณสีทันดร จากตำนานความเชื่อสู่งานจิตรกรรมและประติมากรรมอันทรงคุณค่าแห่งพญาครุฑผู้ทรงพลังอำนาจ หนุนดวงชะตา เสริมบารมี กลับร้ายกลายเป็นดี นำพาผู้ศรัทธาสู่ความมั่งคั่ง รุ่งเรือง พญาสุบรรณสีทันดรเป็นผลงานประติมากรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านพญาครุฑในลักษณะกึ่งคนกึ่งเทพคือมีลำตัวเป็นคนมีหัวและขาเป็นนกตามแบบสากลนิยม ลักษณะกางปีกเหินเวหาทรงพลังอำนาจข้ามมหานทีสีทันดรที่พำนักอาศัยแห่งปลาอานนท์ผู้หนุนโลกขณะพลิกตัวสะบัดหางในมหานทีสีทันดร เกิดเป็นฟองน้ำเดือดพล่านผ่านกรงเล็บแห่งพญาสุบรรณสีทันดร
โดยผลงานดังกล่าวสืบเนื่องจากแนวคิดจาก อ.ธนทัศน์ ทองเนียม ประธานดำเนินงานแห่ง Artmulet และ ดร.ทรงพล เขมะบูลกุล ที่ปรึกษาโครงการ ผ่านจิตรกรเอกอย่าง อ.เกรียงกมล นาคบางแก้ว และประติมากรดังอย่าง อ.กฤษณะ นาพูลผล โดยศิลปินทั้งสองท่านสามารถรังสรรค์ปั้นแต่งผลงานในครั้งนี้ได้อย่างงดงามน่าอัศจรรย์ด้วยเส้นสายลีลาที่พริ้วไหวต่อเนื่องทรงพลังและลงตัวอย่างที่สุดเหมาะสำหรับมีไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าสืบทอดไปยังลูกหลานในภายหน้าและเป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยสืบไป