พระพุทธลีลานฤมิตมิ่งมงคล
พระพุทธลีลานฤมิตมิ่งมงคล ก้าวหน้ามหามงคลสู่ชีวิตนิรมิตความรุ่งเรืองสู่ตระกูล
ย้อนสู่อดีตราว 700 ปีล่วงมาแล้ว หลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงสิ้นพระชนม์ พระยาเลอไทพระราชโอรสได้ทรงเสวยพระราชสมบัติปกครองแผ่นดินสุโขทัยเรื่อยมากระทั่งในปีพุทธศักราช 1843 ท่านจึงได้ทรงเสด็จประพาสทางชลมารคพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร เพื่อไปยังวัดเขาสมอคอนแห่งเมืองละโว้หลังจากเสร็จภารกิจแล้วจึงได้เสด็จกลับไปยังกรุงสุโขทัยระหว่างทางขบวนเรือพระที่นั่งได้ล่องเข้าสู่ลำน้ำในเขตหมู่บ้านบางพลับ(ตำบลอินทประมูล ในปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นใกล้เวลาพลบค่ำจึงไม่เหมาะกับการเดินทาง ท่านจึงทรงสั่งให้ประทับแรม ณ บริเวณริมน้ำ ในคืนนั้นเองพระองค์ทรงพระสุบินนิมิตว่า ทรงเห็นดวงแก้วสุกสว่างไสวลอยขึ้นเหนือที่บรรทมของพระองค์ไปยังทิศตะวันออก เมื่อทรงตื่นจากบรรทมจึงทรงให้ปุโรหิตทำนายพระสุบินนิมิต ปุโรหิตได้กราบบังคมทูลว่า พระสุบินนิมิตนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี อันดวงแก้วสุกสว่างที่เห็นในฝันนั้น อาจเป็นพระบรมธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จแสดงปาฏิหาริย์ให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทราบความว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในสมัยแห่งพระองค์ จึงสมควรจะสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่งพระองค์ได้เคยเสด็จมาประทับค้างแรมยังสถานที่แห่งนี้ พระองค์จึงทรงมีดำริให้สร้าง พระพุทธไสยาสน์ แบบก่ออิฐถือปูนขึ้นและทรงมีพระมหากรุณาโปรดให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในมหากุศลครั้งนี้ด้วย โดยใช้เวลาในการจัดสร้างทั้งสิ้น 6 เดือนจึงแล้วเสร็จและพระราชทานพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ลือไทนฤมิต” ต่อมาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้พระราชทานพระนามใหม่เป็น "พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงขุนอินทประมูล นายอากรผู้บูรณะพระนอนองค์นี้ด้วยดวงจิตแห่งศรัทธาอันแรงกล้าเป็นที่เลื่องลือในรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งอดีตอันเป็นจุดเริ่มต้นของวัดขุนอินทประมูลแห่งนี้ คณะกรรมการวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง จึงได้มอบให้ อ.ธนทัศน์ ทองเนียม เป็นผู้วางแนวทางในการจัดสร้างพระพุทธรูป ศิลปะสุโขทัย แท้ๆ ที่มีความงดงาม ประณีต วิจิตรบรรจง ขึ้นมาใหม่ โดยก่อนหน้านี้ได้จัดสร้างเป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ในครั้งนี้จึงได้ทำการจัดสร้างเป็นพระพุทธรูปปางลีลาอันถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระสุโขทัยที่จะขาดเสียมิได้ เพื่อมอบให้แด่ผู้มีจิตศรัทธาในการร่วมสร้างที่พักสถานปฏิบัติธรรมและเสนาสนะ วัดขุนอินทประมูลรวมทั้งเพื่อเป็นเครื่องเจริญพุทธานุสติและสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาและเพื่อฝากไว้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของของคนไทยสืบไป
พระพุทธลีลานฤมิตมิ่งมงคล จัดสร้างเป็นพระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ ที่มีความงดงามอ่อนช้อยตรงตามพุทธลักษณะทุกประการ มีพระพักตร์รูปไข่ พระศอก้มเอียงมาทางซ้ายเล็กน้อย พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม ไม่มีไรพระศก พระองค์อ่อนช้อยงามสง่า มีจีวรบางๆ แนบติดพระวรกาย ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวามีชายสังฆาฏิพับพาดอยู่เหนือพระอังสาซ้าย ห้อยลงมาด้านหน้าจรดพระนาภี พระรัศมีเป็นรูปเปลวสะบัดต่อขึ้นไปจากพระเกศมาลา อันเชื่อว่าเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกา นิ้วพระหัตถ์เป็นแบบธรรมชาติ คือปลายนิ้วพระหัตถ์ไม่เสมอกัน พุทธลักษณะก้าวไปข้างหน้า ประดิษฐานบนฐานเชิงบัวชั้นบนเป็นแบบกลีบบัวซ้อนกันสองชั้น ฐานชั้นล่างแบบฐานสิงห์ที่ให้ความงดงามลงตัวเป็นที่สุด